เสาโทเทม (Totem pole)

200907_totem_pole02

โทเทม (Totem) หรือ เสาโทเทม (Totem pole) คือ สัญลักษณ์อนุสรณ์ด้วยประติมากรรมจากไม้แกะสลักขนาดใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพื้นเมืองที่ปรากฎอยู่ในชนเผ่าอินเดียนแดงแถบชายฝั่งทะเลตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ สามารถพบเห็นเสาโทเทมได้ในชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองในแคนาดา และสหรัฐอเมริกา

ลักษณะของเสาโทเทม จะแกะสลักขึ้นมาจากลำต้นไม้ขนาดใหญ่เพียงต้นเดียว ส่วนใหญ่ไม้ที่นำมาแกะสลักนั้นคือ ไม้จากต้นซีดาร์ (Cedar tree) ซึ่งเป็นไม้ที่มีอยู่อย่างชุกชุมในป่าไม้ชายฝั่งทะเลตะวันตก   รูป และลวดลายที่แกะสลักมีทั้งภาพใบหน้าของมนุษย์ และสัตว์ต่างๆ ตามจินตนาการ แต่ที่นิยมกันมากมักเป็นภาพ นกดุเหว่า เหยี่ยว และ นกอินทรี โดยมากมักมีส่วนของจงอยปาก ยื่นยาวออกมาข้างหน้า และมักสยายปีกแผ่ออกด้านข้างอย่างสง่างาม  รวมทั้งอาจมีภาพจากธรรมชาติ เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว รวมอยู่ในนั้น และภาพประติมากรรมต่างๆ จะเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ ขึ้นสู่ด้านบนของหัวเสาเสมอ  สุดท้ายจะระบายสีตกแต่งอย่างสวยงาม สีสันต่างๆ แม้จะฉูดฉาดบาดตา แต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณในแบบอย่างวัฒนธรรมของชาวอินเดียนแดง ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  การแกะสลักเสาโทเทมนั้นจึงเป็นงานศิลปะที่ต้องใช้ทักษะฝีมือ และความชำนาญสูง ใช้เวลาในการแกะสลักนานตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ  ดังนั้น เสาโทเทมจึงไม่ใช่เสาธรรมดาๆ ที่มีแต่ความสวยงาม แต่มันมีความหมาย และความสำคัญมากกว่านั้น

เดิมที คำว่า “โทเทม” (Totem) มีรากศัพท์มาจากภาษาพื้นเมืองของชนเผ่าโอจิบวี (Ojibwe) ที่เรียกกันว่า “โอดูเดม” (Odoodem) หมายถึง กลุ่มตระกูลของเขา เพราะคติความเชื่อดั้งเดิมของชนเผ่าโอจิบวี ซึ่งภายหลังได้แพร่ขยายจนกลายเป็นวัฒนธรรมของอินเดียนแดงเผ่าต่างๆ การตั้งเสาโทเทมจะต้องปักอยู่ตรงหน้ากระโจม หรือหน้าอาณาเขตของตระกูลต่างๆ ในชนเผ่านั้น เพราะนั่นเป็นการประกาศถึงศักดิ์ศรี ฐานะ และพลังอำนาจของวงศ์ตระกูลของผู้เป็นเจ้าของเสา ทำให้รูปประติมากรรมต่างๆ บนเสาโทเทม คือการบ่งบอกแทนคำพูด ที่แสดงถึงเรื่องราวของสัตว์สัญลักษณ์ประจำตระกูล หรือบุคคลสำคัญ และตำนานความเชื่อของพวกเขา สำหรับชาวชาวอินเดียนแดงแล้ว เสาโทเทมเป็นศิลปะที่มีชีวิต และใช้แทนคำพูดที่ต้องการจะสื่อสารถึงผู้อื่น ไม่ใช่เป็นเสาเครื่องราง หรือเสาพิธีกรรมใดๆ อย่างที่ชาวตะวันตกที่ไปรุกรานถิ่นที่อยู่ของชาวอินเดียนแดงเข้าใจกันไปเอง

น่าเสียดายที่ทุกวันนี้  คนสมัยใหม่กลับไปตีความของเสาโทเทมผิดไปจากความเป็นจริง และยังนำไปใช้เป็นสินค้าของชาวเมืองในโลกศิวิไลซ์ โดยไม่รู้ซึ้งถึงความหมาย และไร้ซึ่งความเข้าใจถึงที่มาของการสร้าง… “เสาโทเทม”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

คุณอาจจะใช้ป้ายกำกับและคุณสมบัติHTML: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>