Little Tree เด็กของธรรมชาติ

_MG_0525_450-1

ลิตเติ้ลทรี (Little Tree) “วรรณกรรมเยาวชนชนเผ่าเชโรกี” เผ่าเชโรกีเป็นกลุ่มชนอินเดียนแดงเผ่าหนึ่งในอเมริกา

ส่วน “ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี” ( Bury My Heart at Wounded Knee) เป็นเรื่องราวของชนชาวอินเดียนแดงในช่วงที่กำลังต่อสู้และถูกรุกรานจากชนผิวขาวอย่างหนัก นิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้เขียนขึ้นได้อย่างเข้าถึงจิตวิญญาณของชาวอินเดียนที่ต่อสู้เพื่อผืนดินแห่งบรรพชน ความอยู่รอด และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี” นำเสนอความเจ็บปวดและบาดแผล รอยเลือดและหยาดน้ำตาที่เกิดขึ้นจากสงครามระหว่างชาวอินเดียนแดงแห่งอเมริกาเหนือกับชนผิวขาวที่อพยพมาจากยุโรป อ่านแล้วค่อนข้างเศร้าและเครียดนิดหน่อยกับชะตากรรมของทุกผู้คน ที่ต้องผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายของสงครามที่คุกคามความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และเมื่อได้อ่านเรื่อง ลิตเติ้ลทรี ราวกับนี่เป็นภาคต่อของ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี แม้ว่าหนังสือทั้งสองเล่มจะเขียนขึ้นจากคนเขียนคนละคน และเล่าเรื่องราวของชาวอินเดียนแดงในต่างยุคสมัย

ลิตเติ้ลทรี เล่าขานชะตากรรมของชนเผ่าเชโรกีภายใต้การปกครองของชนผิวขาว ผ่านเรื่องราวของเด็กน้อยชาวเชโรกีที่ชื่อ ลิตเติ้ลทรี ในช่วงยุคปี ค.ศ. 1930

ลิตเติ้ลทรีอาศัยอยู่กับปู่และย่า เขาเรียนรู้การดำเนินชีวิตแบบเชโรกีจากปู่และย่า ปู่และย่าสอนให้เขามองเห็นจิตวิญญาณที่อยู่ในธรรมชาติ สอนให้เขาทำไร่ข้าวโพด สอนการใช้ชีวิตบนภูเขา และคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ลิตเติ้ลทรีได้เผยให้เห็นการดำรงชีวิตที่อิงอาศัยธรรมชาติ ความสัมพันธ์อันอบอุ่นระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรือแม้กระทั่งสายสัมพันธ์ที่งดงามระหว่างมนุษย์กับสัตว์ และกับธรรมชาติทั้งปวงที่หล่อเลี้ยงชีวิต

แต่นี่ไม่ใช่วรรณกรรมเยาวชนที่เผยแต่เฉพาะแง่งามของชีวิต ลิตเติ้ลทรียังวิพากษ์สังคมอเมริกันในยุคนั้นที่ปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยชาวอินเดียนแดงอย่างไม่เท่าเทียม สังคมที่มองชนผู้แตกต่างจากตนเองว่าโง่งม นอกรีต ชาวขาวผู้ดูแคลนวิถีชีวิตของชนอินเดียนแดงอย่างไม่เคยเข้าใจ และไม่พยายามจะเข้าใจ

ลิตเติ้ลทรี ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1976 และได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก สารอันทรงพลังจากเรื่องราวในหนังสือได้สร้างกระแสการรักธรรมชาติ การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายให้เกิดขึ้นในจิตใจของผู้ที่ได้อ่าน รวมถึงได้จุดประกายให้เกิดความเข้าใจในมนุษย์ การมองข้ามเชื้อชาติ ศาสนา ผิวพรรณ หรือวัฒนธรรมที่แตกต่าง

แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมาก และทำให้ผู้ที่ชื่นชอบลิตเติ้ลทรีถึงกับอึ้งไปเลย เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฟอร์เรสต์ คาเตอร์ ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้เปิดเผยขึ้นว่า เขาเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่ม คูคลักซ์แคลน (Ku Klux Klan) กลุ่มเหยียดผิวและเชื้อชาติที่มีชื่อเสียงที่สุดในอเมริกา ครั้งนั้นโอปราห์ วินฟรี เจ้าแม่สื่อที่ชื่นชมหนังสือเล่มนี้อย่างมาก ถึงกับถอด “ลิตเติ้ลทรี” ออกจากชั้นหนังสือแนะนำของเธอด้วยความผิดหวังในตัวเขา

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

คุณอาจจะใช้ป้ายกำกับและคุณสมบัติHTML: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>