บากบั้นไปดูสมรภูมิที่มอนทาน่า เมื่อ 22 ปีก่อน แท่งหินยอดเนินคือจุดจบของคัสเตอร์ แท่งหินเล็กๆคือจุดที่ทหารตาย
ในหนังฝรั่งนั้นถ่ายกันกี่หนก็มักไม่ค่อยกล่าวถึงแผนการโจมตีที่ล้มเหลวข้างต้น เพียงจะเน้นว่าคัสเตอร์พากองทหารม้ารุกเข้ามา ในที่ล้อมของพวกอินเดียน แล้วก็ตัดสินใจลงจากม้ายืนหันหลังชนกันรบอย่างกล้าหาญ ส่วนพวกอินเดียนก็ควบม้าตะลุยเข้ามาให้ยิงเล่น ล้มตายลงเกลื่อนทุ่ง แต่ด้วยเหตุที่มีมากกว่าจึงสังหารทหารฝรั่งลงทีละคน จนเหลือคัสเตอร์ยืนเฝ้าธงประจำหน่วยเป็นคนสุดท้ายพร้อมกับโคล์ทลูกโม่ที่ยิงจนหมดกระสุนแล้วถึงตรงนี้ผู้ที่สมควรจะฆ่าคัสเตอร์ได้ ก็ต้องเป็นระดับหัวหน้าเผ่าอย่างเจ้าม้าบ้า จึงจะสมศักดิ์ศรีเพราะซิทติ้งบุลนั้นแก่เกินกว่าจะควบม้ากับพวกหนุ่มๆ แล้ว(ลองเทียบกับลิเกหรือโขนเรื่องรามเกียรติดูซีครับ เหมือนๆกันหากจะปราบทศกรรณฑ์ได้ก็ต้องให้พระรามแผลงศรจึงจะคู่ควรกันหน่อย) ส่วนคัสเตอร์จะถูกยิงหรือถูกสังหารด้วยหอกและธนูก็สุดแล้วแต่ผู้กำกับแต่ละรุ่นจะชอบ สรุปแล้วคัสเตอร์ตายในหนังและละครนับร้อยครั้งด้วยอาการเท่ๆต่างกันออกไป
การยืนหยัดครั้งสุดท้าย หรือ “Custer’s last stand” ที่ตรงความจริงที่สุดนั้นไปถามฝรั่งด้วยกัน ไม่มีใครเป็นพยานได้หรอกครับเพราะตายเรียบ พยานตัวจริงควรจะเป็นพวกอินเดียนที่อยู่ในเหตุการณ์ และพยานเหล่านี้มีหลงเหลืออยู่มากด้วยกันที่ให้สัมภาษณ์ไว้อย่างละเอียดกับนักประวัติศาสตร์ฝรั่งรุ่นหลังคนหนึ่งที่ผมได้หนังสือของเขามา ชื่อ Dr. Thomas Marquis มีวางขายอยู่ ณ อุทยานประวัติศาสตร์ลิทเทิลบิ๊กฮอร์น รัฐมอนทาน่า เมื่อครั้งที่ผมไปเยือนสถานที่รบจริง ในปี ค.ศ. 1981 พวกอินเดียนกล่าวไว้ว่าเมื่อทหารม้า(ของเรโน) ข้ามน้ำมานั้นพวกเขาตกใจมาก พวกผู้หญิงหวีดร้องกันเสียงหลง เพราะทหารม้ายิงดะไปยังลูกเด็กเล็กแดง ใครที่พอมีสติก็วิ่งไปคว้าปืนในกระโจมออกมายิง ส่วนหัวหน้าวัวนั่งผู้ชราก็ได้แต่สวดขอพรฟ้าดินให้ชัยชนะ พวกเขาสู้เพราะคิดว่าจนตรอกถูกทหารจำนวนมากล้อมไว้ ดังนั้นก็ไม่มีการบังคับบัญชากันเหมือนที่เคย พวกหนุ่มๆ คว้าปืนแล้ววิ่งไปข้างหน้า พวกที่อ่อนประสบการณ์คือเด็กอายุสัก 14-15 ปี วิ่งตามไปพร้อมธนูหรือปืนแก๊ป พวกผู้หญิงที่ยิงปืนเป็นก็ตามไปด้วย พวกเขามิได้ขึ้นม้าควบใส่ศัตรูอย่างในหนัง เหตุเพราะคิดว่าตนเป็นฝ่ายตั้งรับ และด้วยเหตุที่ทหารหนีไปอยู่บนที่สูงฝั่งตรงข้าม ก็ต้องค่อยๆคืบคลานขึ้นไปหาอาศัยพงหญ้าตามริมน้ำเป็นที่ซ่อนตัว