หนังสือเล่มนี้ดีอย่างไร

WK-cv-all

ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี หรือ Bury My Heart at Wounded Knee เป็นสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ของนักเขียนอเมริกันชื่อ ดี บราวน์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1970 ทันทีที่เผยแพร่ก็ติดอันดับ National Bestseller List อย่างยาวนาน

เนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงประวัติศาสตร์การสร้างชาติอเมริกันในช่วง ปี 1860-1890 อันเป็นช่วงเวลาที่เรียกกันว่า ‘การพิชิตตะวันตก’ ซึ่งแต่ไหนแต่ไร มักถูกบอกเล่าผ่านวีรกรรมความกล้าหาญของนักบุกเบิก นักร่อนทอง คนนำร่องเรือกลไฟ คาวบอย มือปืน พ่อค้าขนสัตว์ หมอสอนศาสนา ฯลฯ โดยมีชนพื้นเมืองอินเดียนเป็นนักปล้น หัวขโมย เจ้าเล่ห์เพทุบาย หรือมีพฤติกรรมไม่ต่างอะไรจากฝูงไฮยีนา แต่ดี บราวน์ เลือกที่จะเล่าและใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์อธิบายในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ เรื่องราวทั้งหมดคือการรุกราน ไล่ต้อน คดโกงชนพื้นเมืองชาวอินเดียนแห่งอเมริกาเหนือ เพื่อครอบครองผืนแผ่นดิน แร่ธาตุ ป่าไม้ ฝูงสัตว์ ก่อนจะนำมาสู่โศกนาฏกรรมการสังหารหมู่ชาวอินเดียนครั้งใหญ่ที่ตำบลวูนเด็ดนี ไม่ต่างอะไรกับการทิ้งระเบิดปรมาณูเพื่อทำลายล้างอารยธรรมอันเก่าแก่ของชาวอินเดียน

ดังนั้นแล้ว ทันทีที่หนังสือเล่มนี้เผยแพร่ในสังคมอเมริกัน ดี บราวน์ จึงตกอยู่ในฐานะผู้แฉเรื่องราวอันเป็นอัปยศของชาติ (national disgrace) คนแรกๆ ในประวัติศาสตร์ คนอเมริกันจำนวนมากเพิ่งตระหนักถึงภูมิหลังพฤติกรรมชนชาติตน มันเป็นหนังสือที่ทำให้โลกทัศน์หลายคนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกัน ฉากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่วูนเด็ดนี ก็กลายเป็นตำนานที่ถูกบอกเล่า อ้างอิง แทรกซึมอยู่ในเรื่องเล่าของชาวอเมริกันจวบจนถึงปัจจุบัน

ฐานะทางประวัติศาสตร์ของ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี (Bury My Heart at Wounded Knee) จึงถือเป็น ‘ต้นแบบ’ ของหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องราวชนเผ่าอินเดียน ซึ่งมีผู้ผลิตเรื่องราวทำนองนี้ตามออกมาในภายหลังจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าเป็นหนังสือที่ว่าด้วยปรัชญาอินเดียน แนวคิดและวิถีชีวิตที่แนบแน่นกับธรรมชาติ รวมถึงถ้อยคำภาษาของชาวอินเดียนที่เรียบง่าย แต่งดงามและทรงพลังราวบทกวี

ทั้งหมดนี้ ล้วนมีอยู่แล้วใน ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี ทั้งสิ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

คุณอาจจะใช้ป้ายกำกับและคุณสมบัติHTML: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>