มื่อ 29 ธันวาคม 2012 ถือเป็นวันครบรอบ 122 ปี ‘การสังหารหมู่ที่วูนเด็ดนี’ (Wounded Knee Massacre) ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไหลเวียนอยู่ในความทรงจำของชนพื้นเมืองอเมริกัน ที่พวกเขาและคนรุ่นต่อๆ มาไม่เคยลืม
ปี 1891 โธมัส มอร์แกน คณะกรรมการกิจการอินเดียน กล่าวว่า
“เป็นเรื่องยากที่จะประเมินความสูญเสียควายป่าที่เกิดขึ้นกับชาวเผ่าซู การต้องถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในเขตสงวน และได้รับการอุดหนุนเสบียงอาหารจากรัฐบาลลดลงเรื่อยๆ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ อาจทำให้พวกเขาไม่พอใจและก่อความรุนแรงขึ้น”
มอร์แกนไม่ได้แสดงท่าทีเห็นใจชนพื้นเมืองเท่าไหร่นัก สิ่งที่เขาแถลงผ่านสื่อส่วนใหญ่เป็นข้อมูลทางสถิติ 1 ปีหลังเหตุสังหารหมู่วูนเด็ดนี ในเดือนตุลาคม 1889 เขาได้ออกหนังสือแสดงความเคารพชนพื้นเมืองอเมริกัน
“อินเดียนควรจะดำเนินชีวิตตามแบบคนขาว ด้วยความสงบสันติแม้อาจจะต้องใช้กำลังบังคับบ้าง และพวกเขาต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม และพยายามใช้ชีวิตอย่างมีอารยะ ซึ่งมันอาจไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด แต่มันดีที่สุดแล้วสำหรับอินเดียน”
ปัจจุบัน การสังหารหมู่ที่วูนเด็ดนี ยังถูกระลึกถึงในนาม ‘สมรภูมิ’ (Battle) ที่ทหารอเมริกันได้กระทำการต่อสู้อย่างกล้าหาญ ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่
100 ปีหลังการสังหารหมู่ สภาคองเกรสได้ออกหนังสือขออภัยและแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 1890 ที่มีชายหญิงและเด็ก 370 คนถูกปลิดชีวิตด้วยกระสุนปืน เหตุการณ์ที่วูนเด็ดนี ไม่ใช่สิ่งผิดปกติ หรืออุบัติเหตุ แต่ถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างชนพื้นเมืองกับลัทธิล่าอาณานิคม
“ตอนนั้นข้ายังไม่รู้ว่าทุกสิ่งมันจบสิ้นลงไปมากเพียงใด เมื่อมองย้อนกลับไปขณะที่ข้าล่วงวัยมามากเสมือนอยู่บนเนินสูงนี้ ข้ายังคงมองเห็นร่างผู้หญิงและเด็กเหยื่อสังหารโหดนอนตายก่ายกองกันกระจัดกระจายอยู่ตามลำห้วยคคเคี้ยว เหมือนที่ข้าเคยเห็นด้วยตาของข้าเองขณะเยาว์วัย บัดนี้ข้าแลเห็นว่าสิ่งอื่นได้ตายลงบนพื้นโคลนชุ่มเลือดที่นั่นด้วย แล้วถูกกลบฝังอยู่ในเทือกพายุหิมะ ความฝันของพวกเราดับสูญลงที่นั่น ฝันนั้นเป็นฝันอันสวยงาม”
- แบล็คเอลค์ (สำนวนแปลโดย ไพรัช แสนสวัสดิ์ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี, 2555)
หลังเหตุการณ์ที่วูนเด็ดนีไม่กี่วัน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์หนุ่ม แอล. แฟรงค์ โบม ผู้แต่ง พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ (The Wonderful Wizard of Oz) ได้เขียนบทบรรณาธิการใน Aberdeen Saturday Pioneer เมื่อ 3 มกราคม 1891 ว่า
“หนังสือพิมพ์ Pioneer เคยประกาศมาก่อนแล้วว่าความปลอดภัยของเราจะคงอยู่ได้ด้วยการขจัดพวกอินเดียนเสียให้สิ้นซาก เราได้ก่อเรื่องผิดกับพวกมันมาก่อนแล้วตลอดเวลานับศตวรรษ บัดนี้เราควรปกป้องอารยธรรมของเราด้วยการทำกับพวกมันอย่างต่อเนื่องด้วยความผิดอีกสักหนหนึ่ง แล้วกวาดล้างไอ้พวกสัตว์ร้ายที่ไม่มีใครสามารถเลี้ยงให้เชื่องได้เหล่านี้ให้หมดไปเสียจากผืนโลก…” (สำนวนแปลโดย ไพรัช แสนสวัสดิ์ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี, 2555)
สำหรับอิรัก แมดิลีน อัลไบรท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ (ขณะนั้น) เมื่อถูกถามถึงการเสียชีวิตของเด็กๆ ครึ่งล้านระหว่างที่อิรักถูกคว่ำบาตร ในปี 1996 เธอตอบว่า “ฉันคิดว่ามันเป็นทางเลือกที่ตัดสินใจได้ยาก แต่ก็คุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลที่ได้รับ”
ในกาซา โดฟ ไวส์กลาส ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอิสราเอล กล่าวไว้เมื่อปี 2006 ว่า “เราต้องจำกัดอาหารปาเลสไตน์ ไม่ใช่ปล่อยให้พวกเขาตายเพราะขาดอาหาร”
มีคนตายเพราะขาดอาหาร หลายคนตายเพราะเข้าไม่ถึงยาและการรักษา และมีคนตายเพราะถูกโดดเดี่ยว แต่เราไม่เคยปฏิเสธที่จะกำจัดผู้ที่เราไม่ต้องการด้วยกระสุนปืนและระเบิด
27 ธันวาคม 2012 ถือเป็นวันครบรอบ 4 ปีของปฏิบัติการโจมตีกาซา ในนาม ‘Operation Cast Lead’ ทำให้ประชาชนเสียชีวิตไปแล้ว 1,417 คน 330 คนเป็นเด็กๆ บาดเจ็บ 4,336 ราย มีบ้านถูกทำลาย 6,400 หลังคาเรือน โรงพยาบาล ศาสนสถาน โรงไฟฟ้า และระบบบำบัดน้ำเสียตกเป็นเป้าการโจมตี
เหตุการณ์วูนเด็ดนีไม่ได้หายไปไหน ชาวซูก็ยังมีชีวิตอยู่ กาซาไม่ได้หายไปไหน ชาวปาเลสไตน์ก็ยังอยู่ ในอัฟกานิสถาน อิรัก ปากีสถาน เยเมน ลิเบีย และโซมาเลีย ประชาชนต้องสูญเสียลูกหลานของพวกเขา ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพวกเขายังคงดำเนินต่อไป และทั่วทุกมุมโลก เราก็จะพบเห็น ‘เหตุการณ์วูนเด็ดนี’ ถูกผลิตซ้ำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ